ScrumMaster และ Agile Coach ต้อง เติมเข้าพร้อมกับดึงออก

--

Training-Coaching

สวัสดีค่ำคืนวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะหมดวันศุกร์สิ้นเดือนแล้ว ตั้งใจจะเขียน Blog ที่ได้ไปร่ำเรียนเรื่องของการ Coaching กับอาจารย์โค้ชปกรณ์ วงศ์รัตนพิบูรณ์ หนึ่งในครูบาอาจารย์ของผมในศาสตร์ของการโค้ช (Coach) ซึ่งครั้งนี้ไปเรียนเรื่องการ Un-Pack ตัวเองมาและหนึ่งในองค์ความรู้ที่อาจารย์ให้มาคือเรื่องของการ Training และ Coaching ซึ่งอาจารย์ได้อธิบายไว้ได้อย่างดีและเห็นภาพชัดมาก ค่ำคืนนี้เลยนะมาแบ่งปันให้เพื่อนพ้องน้องพี่โดยเฉพาะผู้นำทางจิตวิญญาณของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ Agile Coach หรือ ScrumMaster สมควรจะต้องมีเรื่องนี้เอาไว้ในกล่องเครื่องมือของตนเองนะจ๊ะ

ผมจั่วหัวเรื่องของ Blog นี้ไว้ว่า ScrumMaster และ Agile Coach ต้อง เติมเข้าพร้อมกับดึงออก โดยอาจารย์ได้ให้คำอธิบายของสองคำนี้ไว้ได้ชัดเจนมากในศาสตร์ของการ Coach

  • Training คือ การเสริมเพิ่มเติมศักยภาพให้แก่ Coachee
  • Coaching คือ การดึงศักยภาพของ Coachee ออกมา

พอกลับมาในบริบทของการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยแอจไจล์ (Agile for Software Development) นั้นสองสิ่งนี้ Training และ Coaching เป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะเป็น Agile Coach หรือ ScrumMaster จะต้องลงมือทำ

ในศาสตร์ของการ Coach นั้น การเสริมเพิ่มเติมศักยภาพและการดึงศักยภาพของ Coachee นั้นอาจารย์ได้อธิบายว่าเราจะสนใจที่ ขีดความสามารถ (Competency) ของ Coachee โดยในชั้นเรียนอาจารย์ให้มองสี่เรื่องหลักๆ ของ ขีดความสามารถคือ

  • องค์ความรู้/หลักการ/ทฤษฎี (Knowledge)
  • ทักษะ/วิธีการ/กระบวนการ (Skills)
  • คุณลักษณะ/คุณสมบัติ/ความสามารถ (Attribute)
  • จดมาว่า Value แต่ในหนังสือเขียนว่า Mindset ขอรอถามอาจารย์แป๊ปนะครับ

Agile Coach หรือ ScrumMaster จะต้องสังเกตและวิเคราะห์ให้ออกว่าทีมพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์ (Development Team) และ Product Owner และคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นตกอยู่ในกลุ่มไหน

  • นักกีฬาหน้าใหม่ เปรียบเสมือน คนหรือกลุ่มคนที่ยังไม่เคยรู้จักและนำการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์มาปรับประยุกต์ใช้
  • นักกีฬาที่เล่นได้หรือเล่นเป็น เปรียบเสมือน คนหรือกลุ่มคนที่นำวิธีการ (Methodologies) และแนวปฏิบัติ (Practices) ของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์มาใช้ในการพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์อยู่แล้ว

ทั้งสองกลุ่มคนนี้ Agile Coach หรือ ScrumMaster ต้องใช้ทั้งการเสริมเพิ่มเติม (Training) และการโค้ช (Coaching) เพื่อให้ Coachee ของเรานั้นสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเป็นธรรมชาติและสนุกเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในการพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์เป็นรอบสั้นๆ โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีกระบวนท่าของการเสริมเพิ่มเติมและการโค้ชที่แตกต่างกันออกไป

  • นักกีฬาหน้าใหม่ เราก็ต้องเสริมเพิ่มเติมทั้งส่วนของภาคทฤษฎี ที่มาที่ไปของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ว่าคืออะไรและการปฏิบัติควบคู่กันไปเพื่อค่อยๆ ให้ Coachee ได้รู้ สั่งสมและตระหนักได้ด้วยตนเองถึงการนำทั้งวิธีการ (Methodologies) และแนวปฏิบัติ (Practices) ไปใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละห้วงเวลานั้นๆ
  • นักกีฬาที่เล่นได้หรือเล่นเป็น เราก็ต้องเข้าไปเสริมเพิ่มเติมในภาคทฤษฎี ที่มาที่ไปของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ว่าคืออะไร รวมทั้งแนวปฏิบัติอีกด้วยแต่จะเป็นในมุมของรายละะเอียดหรือให้ทิปเทคนิคต่างๆ เพิ่มเข้าไปเพื่อให้นักฏีฬาเล่นได้ดีขึ้นและอย่างเหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละห้วงเวลานั้นๆ

เอ๊ะ!!! ทำไมยังต้องเสริมเพิ่มเติมลงไปอีกเรื่องทฤษฎีที่มาที่ไปของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ให้กับนักกีฬาที่เล่นได้หรือเล่น!!!

คำตอบคือ เท่าที่ผมได้ประสบพบเจอมานั้น แต่ละคนจะพูดคำว่า Agile (แอจไจล์) กันติดปาก แต่พอถามถึงว่าแอจไจล์คืออะไร? บ้างก็อธิบายไม่ได้ บ้างก็อธิบายได้ บ้างก็อธิบายได้ออกมาหน้าตาคล้าย Scrum บ้างก็เอาเรือเล็กพาเราออกจากฝั่งไปสู่ทะเล ดังนั้น ณ ตอนนี้ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วนเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ ส่วนใหญ่คิอว่าการนำ Scrum เข้ามาใช้แล้วนั่นคือ แอจไจล์ (Agile) ผมขอตอบเลยว่า ไม่ ไม่และไม่ ดังนั้นจึงต้องปรับพื้นฐานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของคำว่า Agile ที่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์และทราบถึงวิธีการ (Methodologies) และแนวปฏิบัติ (Practices) ที่มีจากลุง 17 คนที่ไปพบปะและก่อการ เพื่อจะได้สามารถที่จะปรับใช้ทั้งส่งนของวิธีการ (Methodologies) และแนวปฏิบัติ (Practices) ในการเข้าไปช่วยปรับปรุงกระบวนการและแนวปฏิบัติของการพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์แบบเดิมที่ทำทำกันอยู่มาเป็นแบบแอจไจล์

ก่อนหน้านี้สักปีกว่าๆ ผมอุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็น ScrumMaster แล้วก็ตามมาด้วย Agile Coach แต่ถามว่ารู้ความหมายของการโค้ชและสิ่งที่ต้องทำมากน้อยเพียงใดนั้น ตอบเลยว่าผิวผิวมาก แต่ด้วยอะไรสักอย่างทำให้มาพบกับอาจารย์ผ่านมาทางพาดาวันของผมน้องแอม และได้เข้าร่วมชั้นเรียนของอาจารย์แล้วนั้นทำให้เปิดกะบาลผมมากในศาสตร์ของการโค้ชจริงๆ

coach-as-a-mirror

ในศาสตร์ของการโค้ช (Coach) ผู้ที่เป็นโค้ชต้องทำตนเองให้เป็นกระจกเงาเพื่อสะท้อนให้ Coachee ได้เกิดสามสิ่งนี้

  • มองเห็น ว่า การพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์ที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬากลุ่มใดนั้นเป็นเช่นไร
  • ยอมรับ ว่า การพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์ที่ดำเนินการอยู่ตอนนี้นั้นยังขาดตกบกพร่องในบริบทของ Agile for Software Development ไปเท่าใด หรือยังไม่ได้ลงในรายละเอียดมากเพียงพอ
  • อยากเปลี่ยน ความยั่งยืนของเรื่องใดๆ นั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการลงมือทำจนทุกอย่างกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกระทำการโดยมิต้องมีการสั่งงานใดๆ เฉกเช่นเดียวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ ดังนั้นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นและจะยั่งยืนนั้น Coachee ต้องเกิดความต้องการที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมเอง

อย่างที่บอกไปข้างต้นแล้วว่าสองเรื่องที่เป็นเรื่องพื้นฐานเลยที่เหล่า Agile Coach หรือ ScrumMaster ต้องมีคือการเสริมเพิ่มเติมศักยภาพและการดึงศักยภาพของ Coachee ออกมาใช้ได้แบบหล่อหล่อ อย่าเพียงแต่นำพา Coachee ทำแต่การนำวิธีการ (Methodologies) และแนวปฏิบัติ (Practices) ไปใช้เพียงอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจถึงบริบทที่มาที่ไปนะจ๊ะ

mentor-coach

ดังนั้นหากองค์กรใดๆ ที่คิดและตั้งใจที่จะนำการพัฒนาและส่งมอบซอฟต์แวร์แบบแอจไจล์ (Agile for Software Development) เข้าไปใช้นั้น ต้องมี ต้องอุปโลกน์ Agile Coach หรือ ScrumMaster ขึ้นมาและต้องเป็น FULL TIME JOB นะจ๊ะ และหากไม่ได้มี Experience Agile Coach หรือ Experience ScrumMaster แล้วนั้นก็ต้องอดทนรอการเติบโตของ Agile Coach หรือ ScrumMaster เหล่านั้นอย่างใจร่มๆ ซึ่ง Agile Coach หรือ ScrumMaster เหล่านั้นก็ต้องมี Mentor Coach เพื่อมาเสริมเพิ่มเติมและดึงสักยภาพออกมาเช่นกันนะจ๊ะ

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16:18น.
พญาไท กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

--

--

Writer, Speaker, Tester, Coach, Facilitator, Graphic Recorder, Agile, Scrum, ITIL, Software Tester, Basketball, Linkin Park, Coffee